ช่องวัน 31 รวมพลังหน่วยงานทางการแพทย์และการศึกษา ส่งทัพนักแสดงร่วมเป็นนจิตอาสาโครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งที่ ๙ ประจำปี ๒๕๖๗ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้การรักษาและตรวจสุขภาพประชาชนและพระภิกษุสงฆ์กว่า ๓๐,๐๐๐ ราย
มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ แพทยสภา สถาบันพระปกเกล้า สถาบันมหิตลาธิเบศร และนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นพิเศษ ๑ (ปธพ.Executive: ปธพ.X) หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำทางการแพทย์ (ปนพ.รุ่นที่ ๑) และนักศึกษา ปธพ รุ่นที่ ๑-๑๐ จัด โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งที่ ๙ ประจำปี ๒๕๖๗ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗
ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๗-๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๗ ณ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา และโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เตรียมความพร้อมตรวจสุขภาพให้แก่ประชาชนและพระภิกษุสงฆ์กว่า ๑๐,๐๐๐ ราย ซึ่งในการตรวจจริงสามารถตรวจได้ถึง ๓๐,๐๐๐ ราย โดยเปิดคลินิก ๓๐ คลินิก เป็นคลินิกตรวจโรคเฉพาะทาง ๒๕ คลินิก และคลินิกให้ความรู้ ๕ คลินิก ระดมแพทย์อาสากว่า ๒๐๐ คน จิตอาสากว่า ๒,๐๐๐ คน พร้อมอุปกรณ์การแพทย์กว่า ๑๐๐ ล้านบาท ให้การรักษาและคัดกรองโรคที่มีความยากและซับซ้อน โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ซึ่งโรคเหล่านี้ผู้ป่วยจะต้องรอพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นเวลานาน โครงการนี้นำมาซึ่งโอกาสที่จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการมีสุขภาพพลานามัยที่ดี และช่วยเหลือครอบครัวที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงแพทย์เฉพาะทาง จำนวนหลายพันครอบครัว โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
โดยพิธีเปิดได้จัดขึ้น เมื่อเวลา ๑๐.๐๐ น. วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๗ ณ ห้องประชุมอู่ทอง ชั้น ๕ อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ในฐานะประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วย คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และสภานายกพิเศษแพทยสภา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า พลอากาศโท นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ คณะกรรมการการจัดงานแพทย์อาสาฯ คณะกรรมการมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ คณะนักศึกษาหลักสูตร ปธพ.Executive:ปธพ.X , ปธพ.๑-๑๐, ปนพ.๑ และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมพิธีเปิดโครงการฯ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ในฐานะประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ ประธานพิธี กล่าวตอนหนึ่งในพิธีเปิดงานว่า“มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ ที่ได้รับพระบรมราชานุญาต ให้ใช้ชื่อโครงการฯ และดำเนินการโดย นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ ภายใต้หลักการนำหมอไปหาคนไข้ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย ลดภาระของผู้ป่วยในการเดินทางเข้ายังเมือง และนำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัย ไปถ่ายทอดให้กับแพทย์ในต่างจังหวัดพร้อมทั้งการนำเครื่องมือระดับสูงต่าง ๆ ลงที่พื้นที่ขาดแคลนเพื่อช่วยในการวินิจฉัย ตรวจรักษาและคัดกรองโรค และนำไปสู่ความเชื่อมโยงประสานงานความช่วยเหลือแบบเครือข่าย ทั้งนี้ทุกโครงการได้มีส่วนสนับสนุน ความเป็นจิตอาสาขององค์กรภาครัฐ เอกชน รวมทั้งประชาชน ด้วยการทำงานแบบธรรมาภิบาล ที่เน้นการมีส่วนร่วมได้ เป็นอย่างดี”
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และสภานายกพิเศษแพทยสภา กล่าวว่า “โครงการนี้นับได้ว่าเป็นการจัดหน่วยแพทย์ขนาดใหญ่ระดับประเทศ จากการร่วมบูรณาการระหว่างโรงพยาบาลภายใต้กระทรวงสาธารณสุขและเครือข่ายของระบบสาธารณสุข ซึ่งแสดงถึง การรวมใจ รวมพลัง และความสามัคคี โดยยึดถือหลักธรรมาภิบาลทั้ง ๖ ประการ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์สูงสุดของหลักสูตร โดยครั้งนี้เป็นการจัดเพื่อประชาชนชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดใกล้เคียงให้เข้าถึงการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง ช่วยลดการรอคอยในการเข้ารับการรักษา และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้ารับการรักษาให้ประชาชนด้วย”
แพทย์หญิงเจรียง จันทรกมล ประธานนักศึกษา ปธพ.X กล่าวว่า “โครงการนี้เราได้รวมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงเรียนแพทย์ และภาครัฐบาลทุกภาคส่วนทั่วประเทศไทย แพทย์จากราชวิทยาลัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกราชวิทยาลัย แพทย์จากเหล่าทัพทั้ง ๔ แห่ง ตลอดจนแพทย์จากภาคเอกชน รวมกว่า ๒๐๐ คน และยังมีทันตแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร รวมทั้งจิตอาสาทั่วประเทศไทยเข้าร่วมในโครงการกว่า ๒,๐๐๐ คน โดยนำอุปกรณ์ทางการแพทย์รวมออกหน่วยมูลค่ากว่า ๑๐๐ ล้านบาท นับเป็นการรวมพลังจิตอาสาครั้งสำคัญ”
ดร.นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ประธานโครงการหน่วยแพทย์อาสาฯ ปธพ.X กล่าวว่า “เราเปิดบริการคลินิกแพทย์เฉพาะ ทางสาขาต่าง ๆ จำนวน ๓๐ คลินิก ให้บริการทั้งการตรวจคัดกรองโรคต่าง ๆ ตรวจเลือด ตรวจร่างกาย ตรวจรักษาพยาบาลโดยแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการผ่าตัด เช่น คลินิกจักษุ-ผ่าตัดต้อกระจก คลินิกผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม การแจกอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น รถเข็นพระราชทาน และขาเทียม การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ การส่งเสริมสุขภาพประชาชนการให้ความรู้ เช่น การรู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้า กฎหมาย และสมาธิ รวมถึงการมอบทุนการศึกษา ให้แก่นักเรียนที่มีความประพฤติดี มีคุณธรรม”
สำหรับรายชื่อคลินิกที่ให้บริการทั้ง ๓๐ คลินิก ประกอบด้วย คลินิกคัดกรองโรคปอด X-ray คลินิก คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (FIT Test) คลินิกส่องกล้องลำไส้ใหญ่ คลินิกคัดกรองมะเร็งตับ โดยอัลตราซาวด์ คลินิกคัดกรองและประเมินไวรัสตับอักเสบบีและซี และภาวะไขมันในตับ คลินิกคัดกรองมะเร็งปากมดลูก HPV คลินิกคัดกรองมะเร็งเต้านม คลินิกผ่าตัดต้อกระจก คลินิกผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า คลินิกตรวจหัวใจด้วย Echocardiogram คลินิกตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) คลินิกตรวจการทำงานปอด (PFT) และภูมิแพ้ คลินิกจักษุ คลินิกหู คอ จมูก และตรวจการได้ยิน คลินิตรวจโรคผิวหนัง คลินิกแขนขาเทียม คลินิกเวชศาสตร์ฟื้นฟู คลินิกกระดูกและข้อ คลินิกทันตกรรม คลินิกตรวจสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ คลินิกฝังเข็ม คลินิกวัคซีนไข้หวัดใหญ่ คลินิกรถเข็นพระราชทาน คลินิกอบรมการฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR/AED) คลินิกให้ความรู้การเงิน คลินิกกฎหมาย คลินิกส่งเสริมให้ความรู้สุขภาพ ผู้สูงวัย คลินิกส่งเสริมให้ความรู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้า และคลินิกสมาธิ
เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากโครงการนี้จะช่วยแก้ปัญหาสุขภาพให้ประชาชนแล้ว ยังเป็นการแสดงพลังจิตอาสาและความจงรักภักดี ของแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ทั้งประเทศ และประชาชน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกทั้งยังจะช่วยลดปัญหาการเข้าถึงการรักษาในระดับทุติยภูมิและตติยภูมิในพื้นที่ใกล้เคียงจุดออกหน่วย และเพื่อสร้างระบบโรงพยาบาลสนาม จากหลายภาคส่วน รัฐ ร่วมกับเอกชน เพื่อรองรับหากเกิดภัยพิบัติในอนาคตได้อีกด้วย